♥MINIEYE

วันศุกร์ที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2554

ความรู้เรื่อง BLOG



มารู้จักความหมาย ของประโยคคำถาม ที่มักจะมีคนถามบ่อย ๆ ว่า 
“Blog คืออะไร” ?


Blog มาจากศัพท์คำว่า WeBlog บางคนอ่านคำ ๆ นี้ว่า We Blog บางคนอ่านว่า Web Log แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ทั้งสองคำบ่งบอกถึงความหมายเดียวกัน ว่านั่นคือบล็อก (Blog)


บล็อก (อังกฤษ: blog) เป็นคำรวมมาจากคำว่า เว็บล็อก (อังกฤษ: weblog) เป็นรูปแบบเว็บไซต์ประเภทหนึ่ง ซึ่งถูกเขียนขึ้นในลำดับที่เรียงตามเวลาในการเขียน ซึ่งจะแสดงข้อมูลที่เขียนล่าสุดไว้แรกสุด บล็อกโดยปกติจะประกอบด้วย ข้อความ ภาพ ลิงก์ ซึ่งบางครั้งจะรวมสื่อต่างๆ ไม่ว่า เพลง หรือวิดีโอในหลายรูปแบบได้ จุดที่แตกต่างของบล็อกกับเว็บไซต์โดยปกติคือ บล็อกจะเปิดให้ผู้เข้ามาอ่านข้อมูล สามารถแสดงความคิดเห็นต่อท้ายข้อความที่เจ้าของบล็อกเป็นคนเขียน ซึ่งทำให้ผู้เขียนสามารถได้ผลตอบกลับโดยทันที คำว่า "บล็อก" ยังใช้เป็นคำกริยาได้ซึ่งหมายถึง การเขียนบล็อก และนอกจากนี้ผู้ที่เขียนบล็อกเป็นอาชีพก็จะถูกเรียกว่า "บล็อกเกอร์"


บล็อกเป็นเว็บไซต์ที่มีเนื้อหาหลากหลายขึ้นอยู่กับเจ้าของบล็อก โดยสามารถใช้เป็นเครื่องมือสื่อสาร การประกาศข่าวสาร การแสดงความคิดเห็น การเผยแพร่ผลงาน ในหลายด้านไม่ว่า อาหาร การเมือง เทคโนโลยี หรือข่าวปัจจุบัน นอกจากนี้บล็อกที่ถูกเขียนเฉพาะเรื่องส่วนตัวหรือจะเรียกว่าไดอารีออนไลน์ ซึ่งไดอารีออนไลน์นี่เองเป็นจุดเริ่มต้นของการใช้บล็อกในปัจจุบัน นอกจากนี้ตามบริษัทเอกชนหลายแห่งได้มีการจัดทำบล็อกของทางบริษัทขึ้น เพื่อเสนอแนวความเห็นใหม่ใหักับลูกค้า โดยมีการเขียนบล็อกออกมาในลักษณะเดียวกับข่าวสั้น และได้รับการตอบรับจากทางลูกค้าที่แสดงความเห็นตอบกลับเข้าไป เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์






ความหมายของคำว่า Blog 

ก็คือการบันทึกบทความของตนเอง (Personal Journal) ลงบนเว็บไซต์ โดยเนื้อหาของ blog นั้นจะครอบคลุมได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวส่วนตัว หรือเป็นบทความเฉพาะด้านต่าง ๆ เช่น เรื่องการเมือง เรื่องกล้องถ่ายรูป เรื่องกีฬา เรื่องธุรกิจ เป็นต้น โดยจุดเด่นที่ทำให้บล็อกเป็นที่นิยมก็คือ ผู้เขียนบล็อก จะมีการแสดงความคิดเห็นของตนเอง ใส่ลงไปในบทความนั้น ๆ โดยบล็อกบางแห่ง จะมีอิทธิพลในการโน้มน้าวจิตใจผู้อ่านสูงมาก แต่ในขณะเดียวกัน บางบล็อกก็จะเขียนขึ้นมาเพื่อให้อ่านกันในกลุ่มเฉพาะ เช่นกลุ่มเพื่อน ๆ หรือครอบครัวตนเอง


มีหลายครั้งที่เกิดความเข้าใจกันผิดว่า Blog เป็นได้แค่ไดอารี่ออนไลน์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ไดอารี่ออนไลน์เปรียบเสมือน เนื้อหาประเภทหนึ่งของบล็อกเท่านั้น เพราะบล็อกมีเนื้อหาที่หลากหลายประเภท ตั้งแต่การบันทึกเรื่องส่วนตัวอย่างเช่นไดอารี่ หรือการบันทึกบทความที่ผู้เขียนบล็อกสนใจในด้านอื่นด้วย ที่เห็นชัดเจนคือ เนื้อหาบล็อกประเภท วิจารณ์การเมือง หรือการรีวิวผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่ตัวเองเคยใช้ หรือซื้อมานั่นเอง อีกทั้งยังสามารถ แตกแขนงไปในเนื้อหาในประเภทต่าง ๆ อีกมากมาย ตามแต่ความถนัดของเจ้าของบล็อก ซึ่งมักจะเขียนบทความเรื่องที่ตนเองถนัด หรือสนใจเป็นต้น




จุดเด่นที่สุดของ Blog

ก็คือ มันสามารถเป็นเครื่องมือสื่อสารชนิดหนึ่ง ที่สามารถสื่อถึงความเป็นกันเองระหว่างผู้เขียนบล็อก และผู้อ่านบล็อกที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย ที่ชัดเจนของบล็อกนั้น ๆ ผ่านทางระบบ comment ของบล็อกนั่นเอง


ในอดีตแรกเริ่ม คนที่เขียน Blog นั้นยังทำกันในระบบ Manual คือเขียนเว็บเองทีละหน้า แต่ในปัจจุบันนี้ มีเครื่องมือหรือซอฟท์แวร์ให้เราใช้ในการเขียน Blog ได้มากมาย เช่น WordPress, Movable Type เป็นต้น


ผู้คนหลายล้านคนจากทั่วทุกมุมโลก หันมาเขียน Blog กันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่นักเรียน อาจารย์ นักเขียน ตลอดจนถึงระดับบริษัทยักษ์ใหญ่ในตลาดหุ้น NasDaq


เมื่อสองสามปีที่ผ่านมา Blog เริ่มต้นมาจาก การเขียนเป็นงานอดิเรก ของกลุ่มสื่ออิสระต่าง ๆ หลาย ๆ แห่งกลายเป็นแหล่งข่าวสำคัญ ให้กับหนังสือพิมพ์หรือสำนักข่าวชั้นนำ จวบจนกระทั่งปี 2004 คนเขียน Blog ก็ได้รับการยอมรับจากสื่อและสำนักข่าวต่าง ๆ ถึงความรวดเร็วในการให้ข้อมูล ตั้งแต่เรื่องการเมือง ไปจนกระทั่ง เรื่องราวของการประชุม ระดับชาติ


และจากเหตุการณ์เหล่านี้ นับได้ว่า Blog เป็นสื่อชนิดหนึ่งที่ไม่ต่างจาก วีดีโอ , สิ่งพิมพ์ , โทรทัศน์ หรือแม้กระทั่งวิทยุ เราสามารถเรียกได้ว่า Blog ได้เข้ามาเป็นสื่อชนิดใหม่ ที่สำคัญอย่างแท้จริง


สรุปให้ง่าย ๆ สั้น ๆ ก็คือ Blog คือเว็บไซต์ ที่มีรูปแบบเนื้อหา เป็นเหมือนบันทึกส่วนตัวออนไลน์ มีส่วนของการ comments และก็จะมี link ไปยังเว็บอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย



Web log 

หรือเรียกสั้นๆ ว่า blog (บล็อก) เป็นหนึ่งในความพยายามที่จะนำเวบไปใช้งานในรูปแบบอื่น ให้อธิบายง่ายๆ blog คือ ไดอารี่ออนไลน์นั่นเอง เริ่มจากเราทำการสมัครสมาชิกของ blog หรือจะตั้งเซิร์ฟเวอร์เองก็ได้ แล้วก็เขียนเรื่องราวต่างๆ ตามใจชอบ โดย blog จะแสดงผลตามวันเหมือนกับไดอารี่ทุกประการ หลายคนอาจเกิดคำถามว่า แล้วจะเขียนเรื่องอะไรลงใน blog ของเราดีล่ะ อันนี้หลากหลายมาก (เหมือนกับเราเขียนไดอารี่นั่นแหละ) บางคนอาจจะบันทึกเรื่องที่เจอในแต่ละวัน บางคนอาจจะเขียนวิจารณ์ข่าวสารบ้านเมือง บางคนอาจจะแนะนำเวบไซต์ที่เจอมาในวันนั้น แต่งกลอน โพสรูปที่ไปเที่ยวมา หรือบางครั้งก็ร่วมกันเขียนเป็นทีม ขึ้นกับเจ้าของ blog ว่าต้องการเขียนไปในทางไหน




การวิวัฒนาการของ Blog


โลกของเทคโนโลยีมีการพัฒนาตัวเองอยู่ตลอดเวลา แถมเร็วซะด้วย ลองนึกย้อนไปถึงเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อน ในช่วงนั้นคนไทยได้รู้จักบล็อกกันเป็นวงกว้างและมีการให้บริการพื้นที่บล็อกขึ้นอย่างมากมาย รวมทั้งผู้ให้บริการที่เป็นชาวไทยเองก็มีหลายแห่งที่เปิดบริการพื้นที่บล็อกในคนไทยได้ใช้เช่น exteen.com หรือ bloggang.com เป็นต้น ซึ่งตัวบล็อกเองนั้น หากให้อธิบายก็น่าจะอธิบายได้ว่าเป็นระบบที่ช่วยให้ผู้ใช้สามารถเขียนบันทึกได้ในรูปแบบที่เก็บไว้บนออนไลน์ โดยมีจุดเด่นคือใส่รูป ใส่วีดีโอได้ แถมเรียงลำดับแบบใหม่ไปหาเก่า เรียกได้ว่าพอคนเข้ามาอ่านในบล็อก จะเห็นบทความใหม่ล่าสุดอยู่ที่หน้าแรกเสมอ


เวลาผ่านไป บล็อกก็ถูกวิวัฒนาการไปเรื่อย และสิ่งที่เราเห็นในยุคต่อมาก็คือเมื่อประมาณ 2-3 ปีก่อน คนไทยก็เริ่มรู้จักบริการไมโครบล็อก (Micro Blog) ที่ชื่อทวิตเตอร์ ซึ่งทวิตเตอร์เองนั้นจะเน้นให้ผู้ใช้สามารถเขียนบล็อกได้ในรูปแบบที่เป็นข้อความสั้น คือเขียนได้ไม่เกินครั้งละ 140 ตัวอักษร แถมยังใส่ได้แต่ตัวอักษรเท่านั้น หากอยากใส่รูปภาพอาจต้องไปฝากไว้ที่อื่นแล้วแสดงเป็นลิงค์ให้ไปคลิกดูแทน โดยไมโครบล็อกนี้พัฒนามาเพื่อคนที่อยากเขียนบล็อก แต่อาจจะยังไม่อยากเขียนแบบยาว ๆ ซึ่งแบบนี้สามารถทำให้คนเขียนได้สะดวกขึ้น บ่อยขึ้น โดยมีอุปกรณ์สำคัญคือโทรศัพท์มือถือที่ช่วยทำให้ไมโครบล็อกนี้เติบโตครอบครองใจมหาชน


และล่าสุดนี้ วิวัฒนาการของบล็อก ก็ได้ถูกพัฒนามาเป็นสิ่งที่เรียกว่า ไลท์บล็อก (Light Blog) จะว่าเป็นลูกครึ่งระหว่างบล็อก และไมโครบล็อกก็ได้ คือเหมาะสำหรับเขียนแบบไม่ยาวมาก แต่ก็สามารถใส่ได้มากกว่า 140 ตัวอักษร มีให้เลือกได้เลยว่าเราอยากใส่รูปเฉย ๆ ก็ได้ หรืออยากเขียนบทความเฉย ๆ ก็ได้ หรือแม้กระทั่งแค่การแชร์ลิงค์เว็บที่ไปเจอมาก็ได้ โดยระบบของไลท์บล็อก มักจะพัฒนามาให้ใช้งานได้สะดวกมากขึ้น แถมพ่วงเอาความสะดวกของการใช้โทรศัพท์มือถือเป็นตัวกลาง เพราะผู้ให้บริการไลท์บล็อกหลายแห่งนั้น ก็สร้างแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือมาให้ใช้


บริการไลท์บล็อกที่เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นในต่างประเทศก็คือ Tumblr และ Posterous ซึ่งผู้นำในตลาดไลท์บล็อกก็คือ Tumblr โดยมี Posterous ที่พยายามตามจี้ติดตลอด ซึ่งก็ทั้งสองแห่งนี้ก็ได้ต่อสู้กันในแง่การพัฒนาบริการกันมาตลอดปี 2553 นี้ ส่วนชาวไทยที่เราเริ่มเห็นใช้กันเยอะขึ้น ก็จะไปอยู่ที่บริการไลท์บล็อกของ Tumblr เสียเป็นส่วนใหญ่


ซึ่งบริการไลท์บล็อกนี้ ก็อาศัยรูปแบบของการโด่งดังในโลกของโซเชียลมีเดียแบบเดียวกับบล็อกหรือไมโครบล็อกที่พอจะสังเกตได้คือ มีคนดัง ๆ หรือบริษัทดัง ๆ เริ่มใช้ หลังจากนั้นก็เติบโตกันอย่างก้าวกระโดดเพราะผู้ใช้ทั่วไปเริ่มใช้ตาม โดยไลท์บล็อกนี้จะเริ่มจากบริษัทที่เป็นสื่อยักษ์เริ่มหันมาใช้กันมากขึ้น เช่น New York Times, The Travel Channel หรือ Rolling Stone แมกกาซีนเกี่ยวกับดนตรี ก็หันมาใช้ Tumblr เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการประชาสัมพันธ์สื่อของตัวเองกันมากขึ้น


เมื่อลองวิเคราะห์ดูเพื่อค้นหาว่าทำไมผู้คนถึงชอบใช้บริการไลท์บล็อกกันมากขึ้น ก็พบว่าจุดที่เห็นได้เด่นชัดก็จะคล้าย ๆ บล็อก เช่นมีรูปแบบของธีม (theme) ที่เลือกใช้ได้ง่าย ไม่ต้องมานั่งออกแบบเอง กดคลิกเดียวเปลี่ยนรูปแบบของธีมได้ทันที แต่หากใครที่มีความสามารถที่จะออกแบบธีมได้เอง ก็สามารถทำได้เช่นกัน


อีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้ไลท์บล็อกครองใจคนได้ก็คือเรื่องความง่ายในการอัพเดท ซึ่งนอกจากจะอัพเดทได้จากทางเว็บแล้ว ยังพัฒนาในสามารถอัพเดทได้จากการส่งอีเมล์เข้าไปอัพเดท หรือแม้กระทั่งอัพเดทผ่านมือถือ ซึ่งเป็นจุดเด่นร่วมกันกับระบบไมโครบล็อก


เราพบกว่าไลท์บล็อกสามารถอัพเดทหรือใส่ได้แทบทุกอย่าง ไม่ใช่แค่ตัวอักษรอย่างเดียวเหมือนไมโครบล็อก แต่ยังสามารถใส่รูปโดยจัดชุดรูปภาพเป็นอัลบั้มได้อีกด้วย ใส่วีดีโอ แชร์ลิงค์จากเว็บไหนก็ได้ บางคนนำไปใส่คำคมต่าง ๆ ที่ตนเองชื่นชอบ เรียกได้ว่าเหมาะกับทุกคน อยู่ที่ว่าใครจะเลือกใช้หรือเลือกพูดอะไร


และสิ่งสุดท้ายที่เป็นท่าไม้ตายก็คือ ไลท์บล็อกได้ถูกออกแบบให้ทำงานร่วมกับระบบโซเชียลมีเดียที่โด่งดังทั้งหลายเช่น เมื่ออัพเดทแล้วให้แจ้งไปที่ทวิตเตอร์ หรือเฟซบุ๊คได้อีกด้วย เรียกได้ว่ารองรับความต้องการของผู้ใช้แทบทุกมุมอย่างนี้ เป็นเหตุผลทำให้ครองใจคนได้ง่ายขึ้นนั่นเอง





ความนิยมในการใช้บล็อก


บล็อกได้เริ่มมีบทบาทมากขึ้นในปัจจุบันในวงการสื่อมวลชนในหลายประเทศ เนื่องจากระบบแก้ไขที่เรียบง่าย และสามารถตีพิมพ์เรื่องราวได้โดยไม่ต้องใช้ความรู้ในการเขียนเว็บไซต์ โดยนอกเหนือจากที่ผู้เขียนข่าวส่งผลงานให้กับทางสื่อแล้ว ยังได้มาเขียนข่าวในอีกช่องทางหนึ่งในการเผยแพร่ข้อมูล หรือแนวความคิด โดยการเขียนบล็อกสามารถเผยแพร่ข้อมูลสู่ประชาชนได้รวดเร็วและเสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่า สื่อในด้านอื่น ข่าวที่นิยมในการเขียนบล็อกต่อสื่อมวลชน ส่วนใหญ่จะเป็นในลักษณะเรื่องซุบซิบวงการดารา ข่าวการเคลื่อนไหวทางการเมือง เป็นต้น


จากความนิยมที่มากขึ้น ทำให้หลายเว็บไซต์เปิดให้มีส่วนการใช้งานบล็อกเพิ่มขึ้นมาในเว็บของตนเอง เพื่อเรียกให้มีการเข้าสู่เว็บไซต์มากขึ้นทั้งผู้เขียนและผู้อ่าน



ทำไม Blog ถึงได้รับความนิยมอย่างมาก


เพราะความสะดวกและง่ายดายของการเขียน Blog หรือสร้างบล็อกขึ้นมาสักหนึ่งแห่ง ทำให้ผู้คนนับล้าน ได้ทำการเขียนและเผยแพร่ความคิดของตนได้ง่าย และนอกเหนือจากนั้นยังมี ความคิดเห็น อีกนับล้านจากคนอ่านที่เข้ามา Comment หรือตอบกลับในบล็อกเหล่านั้น ทำให้มีการโต้ตอบกันทางความคิด (interactive) ซึ่งตอบโจทย์เรื่องการสื่อสารระหว่างคนเขียนและคนอ่านได้เป็นอย่างดี


ดังนั้น Blog จึงเปรียบเสมือนเป็นสื่ออีกชนิดหนึ่ง กลายเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญที่เราไม่สามารถมองข้ามมันได้ด้วยความฉับไวของข้อมูลใน Blog อีกทั้งยังเป็นข้อมูลที่ใหม่สด บางครั้งข้อมูลจาก Blog เป็นข้อมูลที่ไม่เคย
ปรากฏที่ไหนมาก่อนอีกด้วย


ที่สำคัญที่สุดคือ Blog ทำให้ผู้คนสามารถมีสิทธิ์มีเสียง และเขียนถึงเรื่องราวและบทความต่าง ๆ ได้ง่ายดังใจนึก


อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว การเขียน blog ฟังดูธรรมดามาก แต่ตอนนี้มันกลายเป็นสิ่งที่ฮิต และอินเทรนด์ที่สุดบนอินเทอร์เน็ตไปแล้ว จากการวิเคาระห์สาเหตุที่ทำให้ใครๆ ก็ติด blog มาได้หลายประการดังนี้


1. เขียน blog เหมือนกับเล่นเวบบอร์ด
กฎข้อแรกของการสร้างเวบไซต์ให้ติดตลาด คือ ต้องทำให้ผู้ชมกลับมาเยี่ยมเวบของเราอีกให้ได้ และวิธีที่ง่ายและได้ผลที่สุดคือ สร้างชุมชนของผู้ชม (Community) ให้เกิดขึ้นบนเวบของเรา เพราะเหตุนี้จึงทำให้เวบที่เน้นการสนทนาผ่านเวบบอร์ดอย่าง Pantip.com กลายเป็นเวบไซต์อันดับหนึ่งของเมืองไทยมาหลายปี blog เป็นการแสดงความคิดเห็นของเราให้คนอื่นอ่านวิธีหนึ่ง เพียงแต่เป็นเวบบอร์ดส่วนตัวที่คนเขียนคือเจ้าของ blog เท่านั้น (ผู้ชมสามารถแสดงความเห็นได้เป็น comment)


2. เขียน blog ไม่ต้องระวังเท่าเวบบอร์ด
จุดอ่อนของเวบบอร์ดคือคนเยอะ และเมื่อเกิดความขัดแย้งกัน ก็จะทะเลาะกันใหญ่โต Pantip.com เจอปัญหานี้มากจนต้องตั้งระบบสมาชิกที่เข้มงวด ทำให้ลำบากในการสมัคร blog เข้ามาทดแทนในจุดนี้ได้พอดี เราสามารถเขียนอะไรลงใน blog ของเราก็ได้โดยไม่ต้องกลัวใครว่า ไม่ต้องกลัวข้อมูลมั่ว (เพราะว่าเป็น blog ของเรานี่นา) ทำให้หลายๆ คนเกิดความสบายใจในการเขียน blog มากกว่าเวบบอร์ดที่มีคนมาคอยเถียงหรือจับผิด


3. blog มีเนื้อหาต่อเนื่อง
คนที่สนใจในเรื่องเดียวกันก็มักจะเข้าเวบบอร์ดเฉพาะเรื่อง แต่ปัญหาอีกอย่างของเวบบอร์ดคือ กระทู้ตกเร็ว และแต่ละกระทู้ไม่ต่อเนื่องกัน เพราะต่างคนต่างโพส แต่ blog นั้นเป็นของเจ้าของคนเดียว เขียนคนเดียว สามารถควบคุมความต่อเนื่องของเนื้อหาได้สะดวกกว่า ยิ่งเจ้าของ blog นั้นเป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เราสนใจพอดี นี่จะสนุกมากเลยครับ ได้อ่านอะไรๆ ที่วงในเค้ารู้กันได้จาก blog นี่ล่ะ


4. มันก็เหมือนแอบอ่านไอดารี่คนอื่น
การแอบอ่านไดอารี่เป็นอะไรที่ไม่ดีแต่สนุกมาก blog นั้นกลับกัน เป็นไดอารี่ที่อยากให้คนอื่นอ่าน ดังนั้นเจ้าของ blog จะประดิษฐ์ ประดอยหาเรื่องที่น่าสนใจมาเขียนให้อ่าน ทำให้เรื่องใน blog นั้นก็น่าสนใจมากขึ้น




ประโยชน์ของบล็อกโดยรวม และทางธุระกิจ


1. ใช้เว็บส่วนตัวหรือสาธารณก็ได้
2. ไม่ต้องใช้ความรู้ทางคอมพิวเตอร์ชั้นสูงก็สามารถทำได้
3. ไม่ต้องของพื้นที่บนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเหมือเว็บไซต์ทั่วไป
4. สามารถบรรจุภาพนิ่ง เสียง และภาพเคลื่อนไหวเหมือนเว็บไซต์ทั่วไปได้
5. สามารถใช้งานหรือปรับแต่งให้สวยงามได้ด้วยตนเอง
6. นำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนได้ดี
7. สำหรับ Weblog ของ Blogger สามารถบรรจุบทความได้มากถึง 999 บทความ
8. สามารถสร้างสรรค์องค์ประกอบต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับการทำงานได้หลายอย่าง เช่น ตัวเลขนับผู้ชม (counter) กระดานข่าว (web board) สไลด์(slides) คลิบวีดิทัศน์ (video clip) เป็นต้น
9. สามารถกำหนดผู้ชมตามที่ต้องการได้
10. สามารถเชื่อมโยงกับเว็บไซต์อื่น ๆ ได้ตามต้องการ


ด้วยประโยชน์ที่ดีดังกล่าว ทำให้ weblog ได้รับความนิยมไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในวงการศึกษามีการนำมาประยุกต์ใช้กับการเรียนการสอนแบบผสมผสานได้เป็นอย่างดี weblog จะทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างผู้สอนกับผู้เรียนหรือผู้เรียนกับผู้เรียนได้ตลอดเวลา ทุกสถานที่ที่มีอินเตอร์เน็ตใช้ผู้เรียนสามารถค้นคว้าความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาบทเรียนได้จากเว็บไซต์อื่นได้มากมายมหาศาล ทำให้ผู้เรียนเข้าถึงสาระของเนื้อหาที่สอนได้อย่างกว้างขวางมากขึ้น ดังนั้น weblog จึงเป็นสื่อการสอนอีกชนิดหนึ่งที่จะช่วยให้ครูสามารถประยุต์ใช้กับจัดการเรียนการสอนได้สะดวกสบายยิ่งขึ้น


ประโยชน์ทางด้านธุระกิจ 

ปัจจุบันนี้ บริษัทชั้นนำต่าง ๆ ของโลก ได้หันมาจับตามอง Blog ซึ่งเป็นรูปแบบของการ Marketing แบบใหม่เนื่องจาก Blogger จะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกับผู้อ่าน Blog สูงมาก เนื่องจากทั้งสองฝ่ายสามารถโต้ตอบกันได้โดยตรง


การที่ใช้ Blog มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดนั้น อาจเรียกได้ว่าเป็น Buzz Marketing บางบริษัทอาจเลือกเจ้าของ Blog ให้เป็น presenter ให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เช่น เสนอสินค้าให้เจ้าของ Blog นำไปเขียนวิจารณ์หรือเขียนถึงใน Blog ของตนเป็นต้น


บางบริษัทใช้ Blog เพื่อเป็นเครื่องมือสื่อสาร หรือ PR ข่าวสารขององค์กร โดยการใช้ Blog เพื่อประกาศข่าวสารนั้น จะดูมีความเป็นกันเองและเข้าถึงลูกค้าได้อย่างเป็นมิตร เพราะเนื่องจากลูกค้าสามารถฝาก comment หรือสื่อสารกับเจ้าของ Blog ได้ทันที ทำให้บริษัทเองจะได้ประโยชน์ จากคำแนะนำที่ตรงไปตรงมาของลูกค้าอีกด้วยบริษัทชั้นนำต่างเลือกที่จะใช้ Blog มาเป็นเครื่องมือทางการตลาดกันแล้ว โดยบางแห่งใช้ทั้ง Blog อย่างเป็นทางการของบริษัทแถมยังเปิดให้พนักงานได้เขียน Blog ของตนเองอีกด้วย โดยวิธีการนี้นับเป็นการทำการตลาดโดยการสร้างการรับรู้ตราสินค้า (Brand) โดยทางอ้อมอีกด้วยนอกเหนือจากองค์กรธุรกิจแล้วบุคคลที่ทำงาน
คนเดียวหรือเป็นกลุ่ม สามารถใช้ Blog เพื่อเป็นการเผยแพร่ผลงาน หรือขายสินค้าของตนได้อีกด้วยเช่น ช่างภาพ, ศิลปิน, นักออกแบบ,นักเขียน, นักวาดการ์ตูน, ร้านค้า ฯลฯ



การใช้งานบล็อก และ ส่วนประกอบที่สำคัญ





Blog มีส่วนประกอบที่สำคัญๆ และการใช้ใช้ประโยชน์จากส่วนต่าง ๆ ของ blog ดังนี้


1. ชื่อบล็อก (ฺBlog Title) ส่วนของ Blog Title นี้ก็จะเป็นชื่อบล็อกนั้น


2. แท็กไลน์ (Subtitle หรือ Tag line)ตรงส่วนนี้จะเป็นคำจำกัดความของเว็บ หรือสโลแกนเก๋ ๆ ที่ใช้อธิบายถึงตัวบล็อกโดยรวม โดยตัวแท็กไลน์นี้ จะมีก็ได้ หรือไม่มีก็ได้ เพราะมันไม่สำคัญเท่ากับชื่อบล็อก


3. วันที่และเวลา (Date & Time Stamp)เป็นวันที่ และบางทีอาจมีเวลากำกับอยู่ด้วย ตัววันที่และเวลานี้ จะเป็นตัวบอกว่าบทความในบล็อกนั้นเขียนขึ้นมาเมื่อไหร่ บางครั้งอาจมีวันที่ระบุอยู่ในส่วนของ comment ด้วย ซึ่งจะเป็นการบ่งบอกว่า comment นั้นเขียนเข้ามาเมื่อไหร่เช่นกัน


4. ชื่อบทความ (Entry Title)ชื่อเรื่องของบทความที่เขียนในบล็อก


5. ตัวเนื้อหาบทความ (Entry’s Main Body)อาจเป็นตัวหนังสือ หรืออาจเป็นรูปภาพ วีดีโอ หรือแอนิเมชั่น เป็นต้น โดยส่วนประกอบเหล่านี้จะรวมเป็นส่วนเนื้อหาของบทความ


6. ชื่อผู้เขียน (Blog Author)บางบล็อก อาจมีการระบุชื่อผู้เขียนไว้ในบล็อกด้วย โดยตำแหน่งที่จะใส่ชื่อผู้เขียนนั้น สามารถไว้ที่ตำแหน่งใดก็ได้ เช่นด้านข้างของหน้าบล็อก (sidebar) หรืออยู่ในตัวบทความก็ได้


7. คอมเม้นต์ (Comment tag)เป็นลิงค์ที่ให้ผู้อ่านคลิกไปเพื่อกรอกคอมเม้นต์ให้กับบล็อกนั้น ๆ หรืออ่านคอมเม้นต์ ที่มีคนเขียนคอมเม้นต์เข้ามา


8. ลิงค์ถาวร (Permalink) เราสามารถเรียกทับศัพท์ได้ว่า เพอร์มาลิ้งค์ เจ้าลิงค์ตัวนี้คือลิงค์ที่ไปหา url ของบทความนั้น ๆ โดยตรง มีประโยชน์สำหรับ blogger คนอื่น ๆ ที่อยากจะทำลิงค์หาบทความของเราโดยตรง ก็จะสามารถหา permalink ได้อย่างง่ายดาย โดย url ของ permalink นี้จะไม่เปลี่ยนไปตามวันและเวลาเหมือน link ของหน้าแรกของบล็อกที่บทความจะเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ


9. ปฎิทิน (Calendar)บล็อกบางแห่งอาจมีปฎิทินอยู่ด้วย โดยในปฎิทินนั้นสามารถคลิกตามวันที่ เพื่ออ่านบทความของวันที่นั้น ๆ ได้


10. บทความย้อนหลัง (Archives)บทความเก่า หรือบทความย้อนหลัง อาจมีการจัดเตรียมไว้โดยเจ้าของบล็อก โดยบล็อกแต่ละแห่งอาจจัดเรียงบทความย้อนหลัง ไม่เหมือนกัน เช่นจัดเรียงรายเดือน รายสัปดาห์ รายวัน หรือจะ list บทความทั้งหมดออกมาเลยก็ได้


11. ลิงค์ไปยังเว็บอื่น (Links)เป็นจุดเด่นและความสนุกของบล็อกอีกอย่างหนึ่งเลยทีเดียวครับ โดยบล็อกแต่ละแห่ง อาจมีลิงค์ไปยังเว็บอื่นหลากหลายเว็บ บางครั้งเราสามารถเรียก link พวกนี้ว่า blogroll


12. RSS หรือ XMLตัว RSS นี้อาจมีเตรียมไว้ให้เราโดยอัตโนมัติ ขึ้นอยู่กับ Blogware หรือ Blog Host ที่เราเลือกใช้ เช่น WordPress หรือ MovableType นั้นจะมี RSS ลิงค์ไว้ให้เราโดยอัตโนมัติ โดยเจ้า RSS Feed นี้จะช่วยให้ผู้อ่านเข้าถึงบทความของเราได้ง่ายขึ้น โดยการใช้โปรแกรมช่วยอ่าน Feed ได้ด้วย บางครั้งนักเขียน Blog คนอื่น ก็อาจใช้ RSS Feed นี้เพื่อประโยชน์ในการดึงข้อมูลไปแสดงในเว็บ หรือบล็อกของตนได้


ผู้ใช้งานบล็อกจะแก้ไขและบริหารบล็อกผ่านทางเว็บเบราว์เซอร์เหมือนการใช้งานและอ่านเว็บไซต์ทั่วไป โดยจะมีรูปแบบบริหารบล็อกที่แตกต่างกัน เช่นบางระบบที่มีบรรณาธิการของบล็อก ผู้เขียนหลายคนจะส่งเรื่องเข้าทางบล็อก และจะต้องรอให้บรรณาธิการอนุมัติให้บล็อกเผยแพร่ก่อน บล็อกถึงจะแสดงผลในเว็บไซต์นั้นได้ ซึ่งจะแตกต่างจากบล็อกส่วนตัวที่จะให้แสดงผลได้ทันที


ผู้เขียนบล็อกในปัจจุบันจะใช้งานบล็อกในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งไม่ว่า ติดตั้งซอฟต์แวร์ของตัวเอง หรือใช้งานบล็อกผ่านทางเว็บไซต์ที่ให้บริการบล็อก


สำหรับผู้อ่านบล็อกจะใช้งานได้ในลักษณะเหมือนอ่านเว็บไซต์ทั่วไป และสามารถแสดงความเห็นได้ในส่วนท้ายของแต่ละบล็อกโดยอาจจะต้องผ่านการลงทะเบียนในบางบล็อก นอกจากนี้ผู้อ่านบล็อกสามารถอ่านบล็อกได้ผ่านระบบฟีด ซึ่งมีให้บริการในบล็อกทั่วไป ทำให้ผู้ใช้สามารถอ่านบล็อกได้โดยตรง ผ่านโปรแกรมตัวอื่นโดยไม่จำเป็นต้องเข้ามาสู่หน้าบล็อกนั้น





บล็อกซอฟต์แวร์


บล็อกซอฟต์แวร์ หรือ บล็อกแวร์ เป็นซอฟต์แวร์ที่ใช้ในอินเทอร์เน็ต ในลักษณะของระบบจัดการเนื้อหาเว็บ ที่ผู้พัฒนาซอฟต์แวร์และผู้เขียนหรือดูแลบล็อกจะแยกจากกันต่างหาก ส่งผลให้ผู้เขียนบล็อกสามารถใช้งานได้ทันทีโดยไม่ต้องมีพื้นฐานความรู้ในด้านเอชทีเอ็มแอล หรือการทำเว็บไซต์แต่อย่างใด ทำให้ผู้เขียนบล็อกสามารถใช้เวลาส่วนใหญ่ในการ บริหารจัดการ เพิ่มเติม ข้อมูลและสารสนเทศแทนได้ นอกจากนี้บล็อกซอฟต์แวร์จะสนับสนุน ระบบ WYSIWYG ซึ่งทำให้ง่ายต่อการเขียน และอาจเพิ่มเติมการมีเทมเพลตในหลายแบบให้เลือกใช้


ซอฟต์แวร์ส่วนใหญ่สามารถดาวน์โหลดและติดตั้งได้ทันทีโดยผู้ใช้ ซึ่งซอฟต์แวร์บางส่วนเป็นซอฟต์แวร์โอเพนซอร์ส ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ที่ไม่สงวนลิขสิทธิ์ ซึ่งผู้พัฒนาสามารถนำมาปรับแก้ เป็นของตนเอง ติดตั้งไว้ใช้เป็นบล็อกส่วนตัว หรือเผยแพร่ให้คนอื่นมาใช้งานได้ ส่วนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์นั้น จะมีทั้งในรูปแบบที่ให้ใช้งานแบบเสียค่าใช้จ่ายหรือให้ใช้งานฟรี


บล็อกซอฟต์แวร์ที่เป็นที่รู้จัก


รายชื่อบล็อกซอฟต์แวร์ที่เป็นที่นิยมพร้อมทั้งชื่อซอฟต์แวร์ที่ใช้พัฒนาในวงเล็บ
ดรูปาล (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)
เวิร์ดเพรสส์ (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)
สแลช (เพิร์ล)
ไลฟ์ไทป์ (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)
จุมล่า (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)
แมมโบ้ (พีเอชพี/มายเอสคิวแอล)


ผู้ให้บริการบล็อก ที่เป็นที่รู้จัก
บล็อกเกอร์ (กูเกิล)
ไทป์แพด
เวิร์ดเพรสส์
ยาฮู! 360° หรือ ยาฮู!เดย์ (ยาฮู!)
วินโดวส์ไลฟ์ สเปซเซส (ไมโครซอฟท์)
มายสเปซ
มัลติไพล

ผู้ให้บริการบล็อกในประเทศไทย ที่เป็นที่รู้จัก
Blognone (บล็อกสำหรับเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับเทคโนโลยีและข่าวไอทีอย่างเดียว)
เอ็กซ์ทีน
GotoKnow
Bloggoo
learners.in.th
บล็อกแก๊ง
โอเคเนชั่น

นอกจากนี้ทางเว็บที่นิยมของไทย
สนุก.คอม 
กระปุก.คอม
ผู้จัดการออนไลน์ 
ก็ได้มีการเปิดให้บริการบล็อก












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น